วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประโยชน์จากการเรียนมวยไทย


ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียน และการฝึกกายบริหารในกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย
1.คุณค่าต่อสภาพทางกาย
1.1เป็นการบริหารร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ การฝึกหัดมวย ไทยอวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้รับการบริหารตลอดเวลาทำให้ร่างกายแข็งแรง และสมบูรณ์ขึ้น
1.2 ร่างกายมีความสง่า สมส่วน หลังจากการฝึกหัดมวยแล้วมีการบริหารและนวดร่างกายที่ถูกวิธี ผลของการนวดนี้เองทำให้โลหิตและของเสียในร่างกายเกิดการถ่ายเทและไหลเวียนสะดวก และทั่วถึง เซลล์ของกล้ามเนื้อได้รับอาหารโดยสมบูรณ์ทำให้ผิงหนังเปล่งปลั่ง ร่างกายสดชื่นอยู่เสมอทำให้ร่างกายสมส่วนและสง่างาม
1.3 ร่างกายมีความทรหดอดทน บึกบึน การฝึกซ้อมอยู่เสมอทำให้เกิดความเคยชินต่อความเหน็ดเหนื่อย และการกระทบกระแทกหรือความเจ็บปวดทำให้ร่างกายมีความทรหดอดทนขึ้นเป็นลำดับ
1.4 ความรวดเร็วว่องไว จากการฝึกหัดท่าต่างๆ ทั้งการรับ และการรุก การรับคือการถอย การผงะ การฉาก การหลบ การรุก ก็คือการเข้าชก ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งการปัดป้อง การโต้ตอบ การเคลื่อนไหวท่าต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ได้รับการฝึกหัดดีย่อมมีความคล่องตัวรวดเร็วว่องไว
1.5 ส่งเสริมความสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เพราะการชกมวยประสาทต้องสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วเพราะขณะชกคู่ต่อสู้ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปัดป้อง และปกปิดหลบหลีกไปด้วย ผลของการฝึกหัดย่อมทำให้เพิ่มพูนความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทได้ดีเพิ่มขึ้นตามลำดับ
1.6 สร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย การชกมวยต้องรักษาอนามัยของร่างกายให้ถูกหลักเพื่อความแข็งแรง ย่อมยังผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้น
2. คุณค่าทางสภาพจิตใจ
2.1 ความกล้าหาญ การชกมวยเป็นการต่อสู้ซึ่งหน้า ดังนั้นนักมวยที่จะรุ่งโรจน์ได้ต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่กล้าหาญ
2.2 ความเข้มแข็ง อดทน การฝึกมวยต้องออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลาทำให้ได้รับความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลีย หากจิตใจไม่เข้มแข็งไม่มีความอดทน ย่อมเป็นหนทางที่ทำให้ท้อถอย และไม่ประสบผลสำเร็จ
2.3 มีความเชื่อมั่นในตนเองและตัดสินใจได้ดี การต่อสู้เป็นรายบุคคลมีความสำคัญยิ่งในการตัดสินใจ และเชื่อมั่นในตนเองว่าจะมีความสามารถที่จะกระทำได้และตัดสินใจได้อย่างเด็ดเดี่ยว
2.4 ความเฉลี่ยวฉลาดและมีไหวพริบ การฝึกมวยไทยต้องฝึกให้รู้จักกลยุทธเพื่อจะกระทำการต่อสู้ และรู้จักแก้ชั้นเชิงกับคู่ต่อสู้ดังนั้นต้องมีความเฉลียวฉลาดและปฏิภาณไหวพริบเป็นหลัก
2.5 ความมีระเบียบวินัย ผู้ที่จะประสบความสำเร็จจากมวยได้ต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามแบบแผนที่ผู้ฝึก(Trainer)ได้วางไว้ตามตารางฝึก ดังนั้นนักมวยต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยในตนเองเป็นอย่างดี
2.6 ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา การต่อสู้บนเวทีแต่ละครั้งต้องต่อสู้อย่างจริงจังไม่หลอกลวงคนดู กรรมการ หรือที่เรียกว่า“ล้มมวย“อันผิดวิสัยของนักสู้ต้องต่อสู้กันอย่างจริงจัง แต่เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้แล้วต่างฝ่ายก็แสดงความยินดี และให้อภัยแก่กันและกัน นับเป็นความมีน้ำใจของนักกีฬา
2.7 รู้จักป้องกันตัวเองการฝึกหัดเป็นประจำย่อมมีทักษะติดตัวไปตลอดเวลาสามารถนำไปใช้ได้ในยามคับขันเพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว และการช่วยเหลือผู้อื่น
3.คุณค่าทางสังคม
การศึกษาวิชามวย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมให้มีระเบียบวินัย การเคารพในกฎ–กติกา เชื่อฟังผู้ฝึกสอน เชื่อฟังผู้ตัดสินฯลฯ มีมารยาทอันดีงาม มีน้ำใจเป็นนักกีฬา สุจริต ยุติธรรม เป็นนักสู้ที่ดี จะนำไปสู่การอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป
4. ช่วยอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยไว้ เพื่อลูกหลานไทยสืบ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: