วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

แม่ไม้มวยไทยในท่าต่างๆ

แม่ไม้มวยไทย



สลับฟันปลา
เป็นไม้มวยใช้ป้องกัน และหลบหลีกอาวุธของคู่ต่อสู้ ในภาพ ฝ่ายขาวใช้หมัดซ้ายทิ่มเข้าหน้าฝ่ายดำ ฝ่ายดำเบี่ยงตัวมาทางขวาด้วยการก้าวเท้าซ้ายถอยหลัง หรือสืบเท้าขวาไปข้างหน้า แล้วใช้ฝ่ามือขวาผลักแขนของฝ่ายดำออกไปทางซ้าย ถ้าฝ่ายขาวใช้หมัดขวาการป้องกันและตอบโต้ก็ท่าทำนองเดียวกัน แต่เป็นลักษณะตรงกันข้าม คือ เบี่ยงตัวมาทางซ้าย แล้วใช้ฝ่ามือซ้ายตบผลักแขนของฝ่ายดำออกไปทางขวา การยักย้ายถ่ายเทดังกล่าวของทั้งสองท่า มีอาการเคลื่อนไหวของร่างกายและแขนในลักษณะสลับฟันปลา เป็นการป้องกัน ก่อนที่จะหาโอกาสตอบโต้ในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป





ปักษาแหวกรัง
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันและตอบโต้ เมื่อคู่ต่อสู้เข้าปล้ำและกอดรัด ในภาพ ฝ่ายขาวเคลื่อนตัวเข้าหาฝ่ายดำและใช้แขนทั้งสองจะเข้ากอดรัด ฝ่ายดำยกแขนทั้งสองสอดเข้ากลาง ระหว่างแขนของฝ่ายขาว ใช้แขนท่อนล่างทั้งสองแขนกันไว้ ไม่ให้ฝ่ายดำโอบแขนเข้ามาได้ เป็นการป้องกัน พร้อมกันนั้นก็ใช้เข่า จะเป็นเข่าใดก็ได้ตามจังหวะการเคลื่อนไหวขณะนั้น ยัดหรือแทงเข่าเข้าไปที่ลำตัวของคู่ต่อสู้ เป็นการตอบโต้







ชวาซัดหอก
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันหมัดคู่ต่อสู้และตอบโต้ด้วยศอก ในภาพ ฝ่ายขาวใช้หมัดขวาทิ่มเข้าตรงหน้าฝ่ายดำ ฝ่ายดำก้มตัวหลบทางขวา พร้อมกันนั้นก็ใช้ฝ่ามือขวากันแขนขวาของฝ่ายขาวออกไปทางซ้าย เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็สืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับใช้ศอกซ้าย เหวี่ยงหรือกระทุ้งเข้าที่กลางลำตัวของฝ่ายขาว เป็นการตอบโต้






อิเหนาแทงกริช
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันหมัดคู่ต่อสู้ และตอบโต้ด้วยเข่า ในภาพฝ่ายขาวใช้หมัดขวาทิ่มเข้าตรงหน้าฝ่ายดำ ฝ่ายดำใช้ฝ่ามือขวากันแขนของฝ่ายขาวออกไปทางซ้าย เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้เข่าซ้าย แทงเข้าที่กลางลำตัวของฝ่ายขาวเป็นการตอบโต้










ยกเขาพระสุเมรุ
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันคู่ต่อสู้เหวี่ยงแข้ง และตอบโต้ด้วยการจับทุ่ม ในภาพ ฝ่ายขาวใช้ขาขวาเหวี่ยงแข้งสูงเข้าบริเวณลำคอด้านซ้ายของฝ่ายดำ ฝ่ายดำหลบลำตัวต่ำ พร้อมทั้งสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า แล้วใช้ฝ่ามือขวากันขาขวาฝ่ายขาวไว้ เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้มือซ้ายโอบขาขวาฝ่ายขาวไว้ยกขึ้นใส่บ่า แล้วยกขาขวาฝ่ายขาวขึ้นสูงพร้อมกับดันไปข้างหน้า ทำให้ฝ่ายขาวเสียหลักล้มลงได้ เป็นการตอบโต้







ตาเถรค้ำฟัก
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันหมัดคู่ต่อสู้ และตอบโต้ด้วยการกระทุ้งหมัดขึ้น ในภาพ ฝ่ายขาวใช้หมัดซ้ายทิ่มเข้าตรงหน้าฝ่ายดำ ฝ่ายดำใช้ฝ่ามือขวากันแขนขวาฝ่ายขาวไปทางซ้าย เป็นการป้องกันตัว ในขณะเดียวกันก็ใช้หมัดซ้ายกระแทกเสยเข้าบริเวณปลายคางของฝ่ายขาว เป็นการตอบโต้







มอญยันหลัก
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันคู่ต่อสู้จู่โจม ด้วยการยกเท้ายันไว้ ในภาพ ฝ่ายขาวใช้หมัดขวาทิ่มเข้าตรงหน้าฝ่ายดำ ฝ่ายดำใช้แขนซ้ายท่อนล่างยกขึ้นกันหมัดฝ่ายขาวให้เบนออกไปทางขวา เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้เท้าซ้ายถีบยันไปยังส่วนกลางของลำตัวฝ่ายขาว เป็นการตอบโต้









ปักลูกทอย
เป็นไม้มวยใช้ป้องกัน การเหวี่ยงแข้งของคู่ต่อสู้ ในภาพ ฝ่ายขาวใช้แข้งซ้ายเหวี่ยงเข้าที่ลำตัวด้านซ้ายของฝ่ายดำ ฝ่ายดำใช้ศอกทั้งคู่ปักลงบนขาซ้ายของฝ่ายขาว เป็นการป้องกัน และตอบโต้พร้อมกันไปในตัว









จรเข้ฟาดหาง
เป็นไม้มวยใช้ตอบโต้ปรปักษ์ด้วยการเหวี่ยงแข้ง ในภาพ ฝ่ายดำหมุนตัวกลับหลังไปทางขวาด้วยขาซ้าย โน้มตัวลงต่ำ แล้วใช้ขาขวาเหวี่ยงสูงเข้าใส่บริเวณก้านคอของฝ่ายขาว เป็นการตอบโต้ฝ่ายขาว ก่อนที่จะกระทำต่อฝ่ายดำ







หักงวงไอยรา
เป็นไม้มวยใช้ป้องกันการเหวี่ยงแข้งของคู่ต่อสู้ด้วยการจับขากด ในภาพ ฝ่ายขาวเหวี่ยงแข้งด้วยขาขวา ฝ่ายดำใช้แขนซ้ายกัน แล้วจับขาขวาฝ่ายขาวไว้ เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้ท่อนแขนขวาส่วนล่าง กดลงไปบริเวณเข่าของฝ่ายขาว เป็นการตอบโต้

กติกามวยไทย

กติกาข้อที่ 1 " สังเวียน " ในการแข่งขันทั่ว ๆ ไป สังเวียนต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่อไปนี้
1.ขนาด สังเวียนต้องเย็บมุมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเลิก ด้านละ 20 ฟุต (6.10 เมตร) และขนาดใหญ่ ด้านละ 24 ฟุต (7.30 เมตร) ซึ่งวัดภายในของเชือก พื้นและมุม

2.พื้นสังเวียนต้องสร้างให้ปลอดภัย และได้ระดับปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆ และต้องยื่นออกไปนอกเชือก อย่างน้อย 90 ซม. (36 นิ้ว) พื้นสังเวียนต้องอยู่สูงจากพื้นอาคารไม่ต่ำกว่า 4 ฟุต และสูงไม่เกิน 5 ฟุต ตั้งเสาขนาด 4-5 นิ้ว สูงขึ้นไปจากพื้นเวที 58 นิ้ว มุมทั้งสี่ต้องหุ้มนวมให้เรียบร้อยหรือจะทำอย่างใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักมวย

3. การปูพื้นสังเวียน พื้นสังเวียนต้องปูด้วย ยาง ผ้าอย่างอ่อน เสื่อฟางอัด ไม้ก๊อกอัดหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม หนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว และไม่หนากว่า 1? นิ้ว และปูทับด้วยผ้าใบให้ตึงและมิดชิดคลุมพื้นสังเวียนทั้งหมด

4.เชือก ต้องมีเชือก 4 เส้น มีความหนาอย่างน้อย 3 ซม. (1.18 นิ้ว) อย่างมาก 5 ซม. (1.97 นิ้ว) ขึงตึงกับเสามุมทั้งสี่ของสังเวียน สูงจากฟื้นสังเวียนขึ้นไปถึง ด้านบนของเชือก 45 ซม. (18 นิ้ว) 75 ซม. (30 นิ้ว) 105 ซม. (42 นิ้ว) และ 135 ซม. (54 นิ้ว) ตามลำดับเชือกต้องหุ้มด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่มและเรียบ เชือกแต่ละด้านของสังเวียนต้องผูกยึดกันด้วยผ้าเหนียว 2 ชิ้น ซึ่งมีขนาดกว้าง 3 – 4 ซม. (1.2 – 1.6 นิ้ว) ให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน และผ้าที่ผูกนั้นต้อง ไม่เลื่อนไปตามเชือก

5. บันได สังเวียนต้องมีบันได 3 บันได มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 3 ? ฟุต สองบันไดต้องอยู่ที่มุมตรงข้ามสำหรับผู้เข้าแข่งขันและพี่เลี้ยง ส่วนอีกบันไดหนึ่ง ให้อยู่ที่มุม กว้าง สำหรับผู้ชี้ขาดและแพทย์

6.กล่องพลาสติก ที่มุมกลางทั้งสองมุมนอกสังเวียน ให้ติดกล่องพลาสติกมุมละ 1 กล่อง เพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลี หรือกระดาษที่ใช้ซับเลือก

กติกาข้อที่ 2 อุปกรณ์สังเวียน อุปกรณ์ประจำสังเวียนจะต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
1.ที่นั่งพักนักมวย สำหรับนักมวยนั่งพักระหว่างยก 2 ที่

2. ขวดน้ำขนาดเล็ก 2 ขวด สำหรับดื่ม และขวดน้ำชนิดพ่นฝอย 2 ขวด ไม่อนุญาตให้นักมวยหรือที่เลี้ยงใช้ขวดน้ำชนิดอื่น ๆ ในสังเวียน

3. ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน

4. น้ำ 2 ถัง

5. โต๊ะและเก้าอี้สำหรับเจ้าหน้าที่

6.ระฆัง

7.นาฬิกาจับเวลาชนิดกดหยุดได้ 1 หรือ 2 เรือน

8. ใบบันทึกคะแนน

9. หีบใส่กุญแจสำหรับเก็บใบบันทึกคะแนน

10.ป้ายบอก ยก – เวลา – คู่ 1 ชุด

11. นวม 2 คู่

12.กางเกงมวยสีแดง และสีน้ำเงิน อย่างละ 1 ตัว

13.กระจับพร้อมเชือก 1 – 2 อัน

14.ฉากบังตา 2 อัน (ใช้ในกรณีที่นักมวยกระจับหลุด)

15.เปลหามคนเจ็บ 1 ชุด กรรไกรปลายมน 1 อัน

กติกาข้อที่ 3 " นวม " นวมที่ใช้ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.นวมที่ใช้ในการแข่งขัน ผู้แข่งขันต้องใช้นวมที่ได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลก ซึ่งคณะกรรมการจัดการแข่งขันจัดไว้ให้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขัน ใช้นวมของตัวเอง

2.รายละเอียดของนวม นักมวยตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นน้ำหนัก 122 ปอนด์ ใช้นวมขนาด 8 ออนซ์ ( กรัม) นักมวยรุ่นสูงกว่า 122 ปอนด์ ถึงรุ่นน้ำหนัก 147 ปอนด์ ใช้นวมขนาด 10 ออนซ์ (284 กรัม) ส่วนที่เป็นหนังต้องหนักไม่เกินครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งขนาดและไส้นวมต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนัก นวมทั้งหมด ไส้นวมต้องไม่เปลี่ยนรูปหรือถูกบดขยี้ให้กระจายไปจากรูปเดิม ต้องผูกเชือกนวมให้ปมเชือกอยู่ด้านนอกหลังข้อมือของนวม ให้ใช้นามที่สะอาด และให้การได้เท่านั้น

3.การตรวจผ้าพันมือและการสวมนวม ทั้งนวมและผ้าพันมือจะต้องเหมาะสม อยู่ภายใต้การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตรวจนวม เจ้าหน้าที่จะต้องคอยดูแลเพื่อให้แน่ใจว่า นักมวยปฏิบัติถูกต้องตามกติกาทุกอย่าง จนกระทั่งนักมวยขึ้นสู่เวที

กติกาข้อที่ 4 " ผ้าพันมือ "
ให้ใช้ผ้าพันมืออย่างอ่อนยาวข้างละไม่เกิน 6 เมตร กว้างไม่เกิน 5 ซม. ผ้าพันมือชนิดอื่นใช้ไม่ได้ แถบกาวยางหรือพลาสเตอร์ทุกชนิด เป็นผ้าพันมือไม่ได้เด็ดขาด อาจใช้ พลาสเตอร์ยางไม่เกิน 2.5 เมตร กว่าง 2.5 ซม. ข้างละ 1 เส้น ปิดทับข้อมือหรือหลังมือห้ามพันทับสันหมัด

กติกาข้อที่ 5 " เครื่องแต่งกาย " ก. การแต่งกายของผู้เข้าแข่งขัน

1.ต้องสวมกางเกงขาสั้นเพียงครึ่งโคนขาให้เรียบร้อยไม่สวมเสื้อและรองเท้านักมวยมุมแดงให้กางเกงสีแดง ชมพู สีเลือดหมู หรือสีขาวที่มีแถบแดงคาด นักมวยมุมน้ำเงินใช้กางเกงสีน้ำเงิน และสีดำ ห้ามคาดแถบสีแดง และต้องสวมเสื้อคลุมตามข้อบังคับสภาพมวยไทยโลก

2.ต้องสวมกระจับที่ทำขึ้นจากวัสดุแข็งแรงทนทาน และได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลกเมื่อถูกตีด้วยเข่าหรืออาวุธในการต่อสู้อย่างอื่นตรงบริเวณ อวัยวะเพศจะไม่ทำให้เกิดอันตราย การผูกกระจับต้องผูกปมไว้ด้านหลัง และต้องผูกด้วยเงื่อนตาย เก็บปลายเชือกส่วนที่เหลือให้เรียบร้อย


3.ห้ามไว้ผมยาวรุงรัง และห้ามไว้เครา อนุญาตให้ไว้หนวดได้แต่ต้องยาวไม่เกินริมฝีหาก เล็บเท้า ต้องตัดให้เรียบและสั้น

4.ต้องสวมมงคลผ้าประเจียด หรือรัดเกล้า เฉพาะเวลาร่ายรำไหว้ครู ก่อนทำการแข่งขันเท่านั้น เครื่องรางอนุญาตให้ผูกที่โคนแขน หรือเอว แต่ต้องหุ้มผ้าให้มิดชิดเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่คู่แข่งขัน

5.อนุญาตให้ใช้ปลอกยืดรัดข้อเท้ากันเคล็ด สวมข้อเท้าได้ข้างละไม่เกิน 1 อัน แต่ห้ามมิให้เลื่อนปลอกรัดขึ้นไปเป็นสนับแข้งหรือม้วนพับลงมา และห้ามใช้ผ้ารัดขาและข้อเท้า

6.ห้ามใช้เข็มขัดหรือสิ่งที่เป็นโลหะ สร้อย

7.ห้ามใช้น้ำมันวาสลิน น้ำมันร้อน ไขหรือสมุนไพร หรือสิ่งอื่นที่ทำให้คู่แข่งขันเสียเปรียบหรือเป็นที่น่ารังเกียจทาร่างกายหรือนวม

8.ฟันยาง ผู้แข่งขันต้องใส่ฟันยาง ข. การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย


กติกาข้อที่ 6 " การจำแนกรุ่นและการชั่งน้ำหนัก " ก. การจำแนกรุ่น และน้ำหนักที่ใช้ในการแข่งขัน


1.รุ่นมินิฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 104 ปอนด์ (47.727 กก.)

2.รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 108 ปอนด์ (48.988 กก.)

3.รุ่นฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 112 ปอนด์ (50.802 กก.)

4.รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 115 ปอนด์ (52.163 กก.)

5.รุ่นแบนตั้มเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 118 ปอนด์ (53.524 กก.)

6.รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 122 ปอนด์ (55.338 กก.)

7.รุ่นเฟเธอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 126 ปอนด์ (57.153 กก.)

8.รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 130 ปอนด์ (58.967 กก.)

9.รุ่นไลท์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 135 ปอนด์ (61.235 กก.)

10.รุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 140 ปอนด์ (63.503 กก.)

11.รุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 147 ปอนด์ (66.638 กก.)

12.รุ่นจูเนียร์มิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 154 ปอนด์ (69.843 กก.)

13.รุ่นมิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 160 ปอนด์ (71.575 กก.)

14.รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 175 ปอนด์ (79.379 กก.)

15.รุ่นครุยเซอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 190 ปอนด์ (86.183 กก.)

16.รุ่นเฮฟวี่เวท น้ำหนักเกิน 190 ปอนด์ขึ้นไป (86.183 กก. ขึ้นไป)


ข. การชั่งน้ำหนัก
1.ผู้เข้าแข่งขันต้องชั่งน้ำหนักในวันแข่งขันอย่างตัวเปล่า โดยการาแข่งขันจะต้องไม่เริ่มขึ้นก่อน 3 ชั่วโมง ภายหลังจากเวลาชั่งน้ำหนัก

2.เมื่อหมดเวลาชั่งน้ำหนักที่กำหนดไว้ ผู้แข่งขันที่น้ำหนักเกินในการชั่งครั้งก่อน ให้ทำการชั่งเป็นครั้งสุดท้าย
3.ก่อนชั่งน้ำหนัก ผู้เข้าแข่งขัน ต้องได้รับการรับรองและการตรวจจากนายแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งว่าเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ที่จะเข้าแข่ง ขันได้


กติกาข้อที่ 7 " การไหว้ครูและจำนวนยก "

1.ก่อนเริ่มการแข่งขันในยกแรก นักมวยทั้งคู่ต้องร่ายรำไหว้ครูตามประเพณี และถูกต้องตามรูปแบบมวยไทย โดยมีดนตรีประกอบ คือ ปี่ชวา ฉิ่งจับหวังหวะ และกลองแขก เมื่อ

2.ในการแข่งขัน ให้แข่งยัน 5 ยก ยกละ 3 นาที หยุดพักระหว่างยก 2 นาที การหยุดการแข่งขันเพื่อตำหนิโทษ เตือน จัดเครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์ของนักมวย ให้เรียบร้อย หรือด้วยเหตุอื่น ๆ ไม่นับรวมอยู่ใน 3 นาที

กติกาข้อที่ 8 " นักมวย "
นักมวยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.อายุไม่ต่ำกว่า 14 ปี บริบูรณ์
2.น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 ปอนด์
3.ต้องไม่เป็นที่ต้องห้ามตามที่ระบุไว้ในคู่มือแพทย์ของสภามวยไทยโลก

ประโยชน์จากการเรียนมวยไทย


ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียน และการฝึกกายบริหารในกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย
1.คุณค่าต่อสภาพทางกาย
1.1เป็นการบริหารร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ การฝึกหัดมวย ไทยอวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้รับการบริหารตลอดเวลาทำให้ร่างกายแข็งแรง และสมบูรณ์ขึ้น
1.2 ร่างกายมีความสง่า สมส่วน หลังจากการฝึกหัดมวยแล้วมีการบริหารและนวดร่างกายที่ถูกวิธี ผลของการนวดนี้เองทำให้โลหิตและของเสียในร่างกายเกิดการถ่ายเทและไหลเวียนสะดวก และทั่วถึง เซลล์ของกล้ามเนื้อได้รับอาหารโดยสมบูรณ์ทำให้ผิงหนังเปล่งปลั่ง ร่างกายสดชื่นอยู่เสมอทำให้ร่างกายสมส่วนและสง่างาม
1.3 ร่างกายมีความทรหดอดทน บึกบึน การฝึกซ้อมอยู่เสมอทำให้เกิดความเคยชินต่อความเหน็ดเหนื่อย และการกระทบกระแทกหรือความเจ็บปวดทำให้ร่างกายมีความทรหดอดทนขึ้นเป็นลำดับ
1.4 ความรวดเร็วว่องไว จากการฝึกหัดท่าต่างๆ ทั้งการรับ และการรุก การรับคือการถอย การผงะ การฉาก การหลบ การรุก ก็คือการเข้าชก ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งการปัดป้อง การโต้ตอบ การเคลื่อนไหวท่าต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ได้รับการฝึกหัดดีย่อมมีความคล่องตัวรวดเร็วว่องไว
1.5 ส่งเสริมความสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เพราะการชกมวยประสาทต้องสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วเพราะขณะชกคู่ต่อสู้ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปัดป้อง และปกปิดหลบหลีกไปด้วย ผลของการฝึกหัดย่อมทำให้เพิ่มพูนความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทได้ดีเพิ่มขึ้นตามลำดับ
1.6 สร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย การชกมวยต้องรักษาอนามัยของร่างกายให้ถูกหลักเพื่อความแข็งแรง ย่อมยังผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้น
2. คุณค่าทางสภาพจิตใจ
2.1 ความกล้าหาญ การชกมวยเป็นการต่อสู้ซึ่งหน้า ดังนั้นนักมวยที่จะรุ่งโรจน์ได้ต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่กล้าหาญ
2.2 ความเข้มแข็ง อดทน การฝึกมวยต้องออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลาทำให้ได้รับความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลีย หากจิตใจไม่เข้มแข็งไม่มีความอดทน ย่อมเป็นหนทางที่ทำให้ท้อถอย และไม่ประสบผลสำเร็จ
2.3 มีความเชื่อมั่นในตนเองและตัดสินใจได้ดี การต่อสู้เป็นรายบุคคลมีความสำคัญยิ่งในการตัดสินใจ และเชื่อมั่นในตนเองว่าจะมีความสามารถที่จะกระทำได้และตัดสินใจได้อย่างเด็ดเดี่ยว
2.4 ความเฉลี่ยวฉลาดและมีไหวพริบ การฝึกมวยไทยต้องฝึกให้รู้จักกลยุทธเพื่อจะกระทำการต่อสู้ และรู้จักแก้ชั้นเชิงกับคู่ต่อสู้ดังนั้นต้องมีความเฉลียวฉลาดและปฏิภาณไหวพริบเป็นหลัก
2.5 ความมีระเบียบวินัย ผู้ที่จะประสบความสำเร็จจากมวยได้ต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามแบบแผนที่ผู้ฝึก(Trainer)ได้วางไว้ตามตารางฝึก ดังนั้นนักมวยต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยในตนเองเป็นอย่างดี
2.6 ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา การต่อสู้บนเวทีแต่ละครั้งต้องต่อสู้อย่างจริงจังไม่หลอกลวงคนดู กรรมการ หรือที่เรียกว่า“ล้มมวย“อันผิดวิสัยของนักสู้ต้องต่อสู้กันอย่างจริงจัง แต่เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้แล้วต่างฝ่ายก็แสดงความยินดี และให้อภัยแก่กันและกัน นับเป็นความมีน้ำใจของนักกีฬา
2.7 รู้จักป้องกันตัวเองการฝึกหัดเป็นประจำย่อมมีทักษะติดตัวไปตลอดเวลาสามารถนำไปใช้ได้ในยามคับขันเพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว และการช่วยเหลือผู้อื่น
3.คุณค่าทางสังคม
การศึกษาวิชามวย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมให้มีระเบียบวินัย การเคารพในกฎ–กติกา เชื่อฟังผู้ฝึกสอน เชื่อฟังผู้ตัดสินฯลฯ มีมารยาทอันดีงาม มีน้ำใจเป็นนักกีฬา สุจริต ยุติธรรม เป็นนักสู้ที่ดี จะนำไปสู่การอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป
4. ช่วยอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยไว้ เพื่อลูกหลานไทยสืบ ต่อไป

การไหว้ครูมวยไทยคืออะไร


การไหว้ครูและการร่ายรำมวยไทย
“ครู“คือผู้ที่สอนให้ศิษย์มีความรู้สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ครูจึงเป็นผู้มีพระคุณต่อศิษย์ บรรพบุรุษไทยแต่โบราณสอนเอาไว้ว่า ศิษย์ต้องเคารพต่อครูด้วยกาย วาจา และจิตใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นอกจากนั้นต้องเคารพต่อผู้ที่มีพระคุณ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพยึดมั่น การดำรงชีวิตจึงจะเป็นศิริมงคลต่อตนเอง จะประกอบการใดๆ ก็จะเจริญก้าวหน้ากลับตรงกันข้ามถ้าศิษย์คนใดไม่ปฏิบัติจะไม่เป็นศิริมงคลและจะประกอบการใดๆ ก็จะไม่เจริญ ด้วยความเชื่อมั่นในคำสอนนี้เองจึงถือปฏิบัติกันมาและตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
“มงคล“นักมวยต้องสวมมงคลก่อนจึงทำการไหว้ครูและร่ายรำ ทั้งนี้เพราะมงคลเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ครูอาจารย์ได้ทำการปลุกเสกเวทมนตร์คาถาลงในมงคล นักมวยและนักรบสมัยโบราณก่อนชกมวยและก่อนออกทำการสู้รบกับข้าศึกต้องสวมมงคลทุกครั้ง เพราะถือว่ามงคลเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้ชนะคู่ต่อสู้ได้ ด้วยความเชื่อถือจึงได้ปฏิบัติต่อเนื่องและตกทอดกันมา และถือเป็นประเพณีนิยม
ร่ายรำ
เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการไหว้ครูทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังนี้
1.เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกาย ให้ทุกส่วนของร่างกายได้เตรียมพร้อมก่อน
2.เพื่อเป็นการกระตุ้นทางจิตใจ ให้ฮึกเหิมคึกคะนองทำลายขวัญคู่ต่อสู้
3.เพื่อเป็นการบอกกล่าว เคารพคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนเคารพยึดมั่นดังเช่น ร่ายรำท่าพรหมสี่หน้า ร่ายรำท่านารายณ์ขว้างจักร ร่ายรำท่าหนุมานถวายแหวน หรือจะให้อ่อนช้อยและสวยงาม เช่น ร่ายรำท่าสาวน้อยประแป้ง ร่ายรำท่านกยูงรำแพน หรือจะเดินเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้เช่น ย่างสามขุม ย่างสุขเกษมเสือย่าง–ม้าย่องเป็นต้นทั้งนี้บรรพบุรุษแต่โบราณได้เป็นผู้ริเริ่ม และตกทอดกันมาจนทุกวันนี้
4.เพื่อเป็นการสำรวจพื้นที่ก่อน ทั้งนี้เพราะการชกมวยสมัยก่อนนั้น ชกกันบนสนามบนพื้นหญ้าพื้นดินอาจมีหลุมหรือร่องหรืออื่นๆ ที่ทำให้ไม่ปลอดภัย อาจพลาดท่าเสียทีคู่ต่อสู้เพราะสนามได้ ดังนั้นจึงมีการร่ายรำเพื่อสำรวจสนามก่อน มิได้ชกบนเวทีราบเรียบปูด้วยผ้าใบอย่างทุกวันนี้

ประวัติและความเป็นมาของมวยไทย



ประวัติมวยไทย.
มนุษย์รู้จักคำว่า "ต่อสู้" ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเกิดลืมตามาดูโลก ต้องต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเองและแม้แต่กับตัวเองก็มิได้ละเว้นจะต้องสู้ ต้องต่อสู้กับธรรมชาติและภัยของธรรมชาติสิงสาราสัตว์ที่มุ่งร้ายหมายชีวิต หรือที่มนุษย์จะมุ่งเอาชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับยังชีวิตบางครั้งมนุษย์ก็ต่อสู้กันเอง เพื่อสิทธิในการครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อเสรีภาพ เพื่อป้องกันตนเองหรืออื่นๆ การต่อสู้ดังกล่าวอาจจะต้องใช้กำลังกายกำลังใจและกำลังความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
มนุษย์จะต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการต่อสู้ ความอยู่รอดของชีวิตจากการต่อสู้มนุษย์ก็ได้พยายามคิดค้นวิธีการต่อสู้ เพื่อป้องกันให้ถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเมื่อทั้งสองฝ่ายมีอาวุธคู่มือการทำร้ายกันก็ทำได้ลำบากต่างก็ต้องเกรงซึ่งกันและกันมนุษย์ก็พยายามใช้ความคิดที่จะหาหนทางเอาชนะ เอาชีวิตของคู่ต่อสู้ให้ง่ายและรวดเร็ว ป้องกันชีวิตตนเองให้ปลอดภัยมากขึ้นพยายามคิดค้นศึกษา ทดลอง ดัดแปลงแก้ไข เพื่อหาแนวทางที่จะต่อสู้และป้องกันตัวทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ ทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวขึ้นมา
มนุษย์ในแต่ละซีกโลกหนึ่ง หรือแต่ละภาคของโลก ต่างก็มีวิธีการต่อสู้และป้องกันตัวเป็นของตนเอง และแตกต่างกับการต่อสู้ของมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ทั้งนี้เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวแตกต่างกัน เช่น มนุษย์ในแถบขั้วโลกมีหิมะน้ำแข็งจับอยู่ตลอดปีหรือมีอากาศหนาวจัด การแต่งกายจะต้องแต่งด้วยเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อป้องกันความหนาวที่จะมาทำอันตรายต่อผิวหนัง ความคล่องตัวในการเตะต่อยไม่ค่อยมีการต่อสู้มักจะใช้ประโยชน์จากเครื่องแต่งกายที่หนา โดยการจับรั้งเพื่อทำการทุ่ม หรือใช้ขอบเสื้อส่วนที่เป็นปกและคอเสื้อรัดคอหรือใช้เกี่ยวพันไม่ให้คู่ต่อสู้เคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจับทุ่ม ได้แก่ ยูโด มวยปล้ำ ไอคิโด
สำหรับมนุษย์ที่เกิดในบริเวณอากาศอบอุ่นและค่อนข้างร้อน การแต่งกายจะแต่งด้วยเสื้อผ้าที่บาง ไม่รุ่มร่าม มีความคล่องตัวในการเตะต่อยดีการต่อสู้จึงมักจะอาศัยการเตะต่อย ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัว แบบเตะต่อย เช่น มวยไทย มวยสากล เสี้ยวลิ้มของจีนคาราเต้ของญี่ปุ่น หรือเทควันโดของเกาหลี เราจะสังเกตเห็นว่า ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวบางประเภทจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่นแขนงวิชาการเตะต่อย อาจกล่าวว่า ศิลปะประเภทนี้ก็อาจจะกล่าวได้ยาก เพราะการคิดค้นทดลองฝึกฝน มักจะเลียนแบบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความคล้ายคลึงกันจึงย่อมจะเป็นไปได้
มนุษย์ได้พยายามคิดค้นการต่อสู้มือเปล่าเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งรอบข้าง โดยใช้อวัยวะของร่างกายเป็นอาวุธเข้าต่อสู้ เช่น มือและเท้า กำหนดระเบียบแบบแผนมีหลักเกณฑ์ในการต่อสู้สิ่งต่างๆ รวมกันเรียกว่า "มวย"
บรรพบุรุษมีความเฉลียวฉลาดในการคิดค้น ดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น มือ, เท้า, เข่า, ศอก และศีรษะเข้าต่อสู้ป้องกัน ปิดป้องส่วนที่อ่อนแอของร่างกายได้เป็นอย่างดี วิธีการต่อสู้และป้องกันตนเองของไทย ซึ่งจะหาการต่อสู้ของชาติอื่นมาเทียบไม่ได้ การต่อสู้มือเปล่าของไทยเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ประจำชาติ เรียกว่า "มวยไทย"
มวยไทยเป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวได้จริงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการต่อสู้และในการกีฬา ศิลปะประเภทนี้บรรพบุรุษของชาติไทยใช้อบรมสั่งสอนสืบทอดกันมาให้ดำรงอยู่ตลอดไป บรรดาชายฉกรรจ์จะได้รับการสั่งสอนฝึกฝนศิลปะประเภทนี้อย่างจัดเจนทั้งสิ้น การใช้อาวุธรบสมัยโบราณ เช่น กระบี่ กระบอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ นักรบไทยจะนำไปประกอบการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงสูง เดิมมักจะฝึกสอนกันเฉพาะบรรดาเจ้านายชั้นสูงนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น
ต่อมาจึงแพร่หลายไปถึงสามัญชน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากครูอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดทหารขุนพล ยอดนักรบของชาติมาแล้วได้ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต พยายามถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ศิษยานุศิษย์ และสืบเนื่องมาจากไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ครูอาจารย์ที่สอนอยู่ในเพศบรรพชิตจึงทำให้มวยไทยกับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันจนแยกไม่ออก ซึ่งจะสังเกตได้จากก่อนการชก นักมวยจะมีการไหว้ครู ร่ายมนต์คาถาตามร่างกายก็มีเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้าประเจียดรัดแขน หรือมงคลสวมศีรษะ เป็นต้น
มวยไทยเริ่มขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใดแต่เท่าที่ได้ปรากฏนั้นมวยไทยได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับชาติไทยด้วยซ้ำ เพราะมวยไทยนั้นเป็นศิลปะประจำชาติของไทยเราจริงๆ ยากที่ชาติอื่นจะเลียนแบบได้
มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้นเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น
ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้

ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ เตะแล้ว มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบ และเตะนั้นมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่างๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้มานานเข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ-เตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมายแต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย 2 อย่างคือ
1. เพื่อไว้สำหรับสู้รบข้าศึก
2. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว
สมัยอาณาจักรน่านเจ้า
พ.ศ. 1291 พระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า และมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งปกครองอยู่นาน ไทยต้องทำสงครามกับจีนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นมิตรบางครั้งก็เป็นศัตรูกัน ในสมัยนั้นมีการฝึกใช้อาวุธบนหลังม้า รู้จักใช้หอก ใช้ง้าว ในสมัยล้านนาไทยได้มีวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และวิชาเจิ้ง (การต่อสู้แบบจีนชนิดหนึ่งคล้ายๆ มวยจีน) การรบเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จะสังเกตเห็นว่าการต่อสู้ในสมัยนี้ส่วนมากจะใช้อาวุธ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัว และนิยมการเลียนแบบจากจีน
สมัยกรุงสุโขทัย
พ.ศ. 1781-1921 ในสมัยสุโขทัยนี้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยก็มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่างๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ สถานที่ที่เป็นสำนักประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น
1. วัด จากครูอาจารย์ที่บวชเป็นพระภิกษุมีฝีมือในการต่อสู้
2. บ้าน จากผู้มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กุลบุตร กุลธิดาที่สนใจ
3. สำนักราชบัณฑิต ให้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว มีการใช้อาวุธบนหลัง ช้าง วัว ควาย
นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น ระบำ รำ เต้น กีฬาว่าว จากพงศาวดารโยนกพูดถึงเรื่องการล่าสัตว์ว่า พระเจ้าเม็งรายกับพระเจ้ารามคำแหงได้ทรงช้างออกไปล่าสัตว์กับพวกพรานและข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นสัตว์ประเภท กวาง หมู ไก่ อีเก้ง นก ฯลฯ เป็นต้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 1893 - 2310 สมัยนี้ยังมีการถ่ายทอดวิชาการต่างๆ มาจากสมัยสุโขทัยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ และวัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบกระบี่ กระบอง กริช มวยไทย ธนู เป็นต้น
พ.ศ.1901 - 2173 ประชาชนในกรุงศรีอยุธยานิยมเล่นกีฬากลางแจ้งกันมาก โดยเฉพาะการเล่นว่าว จนต้องออกกฎมลเฑียรบาล ห้ามประชาชนเล่นว่าวเหนือพระราชฐาน
พ.ศ. 2174 - 2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับว่าเจริญที่สุด เพราะมีกีฬาหลายอย่าง เช่น การแข่งขันเรือ การชกมวย
สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ พระองค์ชอบกีฬาชกมวย ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลราดรวด พระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านนอกไปเที่ยวงานมหรสพ แล้วพระองค์ก็สมัครชกมวย โดยไม่เกี่ยงว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใคร พอทางสนามรู้ว่าพระองค์เป็นนักมวยมาจากอยุธยาจึงได้จัดนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญเท่าที่มีอยู่ ซึ่งได้แก่นายกลางหมัดมวย นายใหญ่หมัดเหล็ก และนายเล็กหมัดหนัก ชกกับพระเจ้าเสือ พระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด
พระองค์ได้ฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้สามารถในกระบี่กระบองและมวยปล้ำ

ในสมัยนั้นใครมีเพลงดาบดีและเก่งทางรบพุงนั้น จะต้องเก่งทางมวยไทยด้วย เพราะเวลารบพุ่งนั้นต้องอาศัยมวยไทยเข้าช่วยด้วย ดังนั้น วิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายเพื่อที่จะฝึกฝนเพลงดาบ และวิชามวยไทย เพื่อที่จะให้ตัวเองเข้าไปรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร
แต่เมื่อพ้นจากหน้าที่สงครามแล้ว มีการชกมวยกันเพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่ง กับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาชกกัน ในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดการท้าทายกันขึ้นและมีการพนันขันต่อกัน มวยในสมัยนั้นชกด้วยหมัดเปล่าๆ ยังไม่มีการคาดเชือก

พ.ศ. 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก คนไทยถูกจับไปเป็นเชลยมาก และเมื่อไปถึงพม่าก็จัดมหาเจดีย์ใหญ่เพื่อฉลองชัยชนะ สุกี้พระนายกองก็ได้คัดเลือกนายขนมต้มส่งไปชกมวยที่พม่าด้วย นายขนมต้มซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้กับพม่าถึง 10 คน และพม่าได้แพ้นายขนมต้มหมดทุกคน จนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษรอบตัว เสร็จแล้วพระเจ้ากรุงอังวะได้มอบเงินและภรรยาให้ 2 คน เป็นรางวัลแก่นายขนมต้ม นายขนมต้มจึงได้เปรียบเสมือนบิดาผู้สอนมวยไทย เพราะทำให้ไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับวิชามวยไทยเป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงได้เลื่องลือมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อนึ่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มวยไทยชกกันด้วยการ "คาดเชือก" เรียกว่า มวยคาดเชือก ซึ่งใช้เชือกหรือผ้าพันมือ บางครั้งการชกอาจถึงตายเพราะเชือกที่คาดมือนั้นบางครั้งใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียดชกตรงไหนเป็นแตกได้เลือด จะเห็นว่าสมัยนี้การชกมวยคาดเชือกมีอันตรายมาก

สมัยกรุงธนบุรี
พ.ศ. 2314 พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่และได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (นายทองดี ฟันขาว) จึงนำทัพออกตะลุมบอนกับพม่าจนดาบทั้งสองหัก และป้องกันเมืองไว้ได้ พระยาพิชัยเป็นผู้มีฝีมือในเรื่องการชกมวย กระบี่กระบอง และฝีมือในการรบ พระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) จึงได้ให้ไปครองเมือง พิชัย จากการต่อสู้ของพระยาพิชัยจนดาบหัก และสามารถป้องกันเมืองพิชัยไว้ได้นี้ประชาชนจึงเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก
ในสมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นกีฬามวยไทย กระบี่กระบองแข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ หมากรุก ชักเย่อ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยปัจจุบัน)

พ.ศ. 2325 ในระยะต้น คือ รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬามากเช่นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง ส่วนใหญ่ประชาชนก็นิยมเล่นกีฬากันมากโดยฝึกกันตามบ้านและสำนักต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งผู้ที่มีฝีมือในทางกีฬาต่างๆ ให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬา ให้มียศและตำแหน่งด้วยเช่น หมื่นมวย แม่นหมัด ขุนชงัด ชิงชก เป็นผู้ดำเนินการจัดกีฬา กีฬาไทยที่ได้รับการยกย่องส่งเสริมมีดังนี้

1. กีฬาว่าว จัดให้มีการแข่งขันว่าวชิงถ้วยพระราชทานพระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพร่างระเบียบการแข่งขันว่าว และตราเป็นข้อบังคับ เรียก กติกาว่าว สนามหลวง พระองค์ยังดำริที่จะตั้งสมาคมกีฬาสยามขึ้น

2. จัดให้มีการแข่งขันกีฬากระบี่กระบอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกระบี่กระบองที่มีความสามารถ พระองค์ได้ส่งเสริมให้มีการฝึกหัดและจัดแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง

3. จัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยไทย รัชกาลที่ 5 พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทยจึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้นทั้งในชนบทและในกรุง

4. จัดให้มีการแข่งขันกีฬา รัชกาลที่ 5 ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูขึ้น โดยจัดครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินงาน

ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยก็มีการฝึกฝนกันตามสำนักฝึกต่างๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยกรุงเทพฯก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ์ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทยการชกกันในสมัยหลังๆ จึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือ ยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า อยู่เช่นเดิมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
หลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขัน และกรรมการผู้ชี้ขาดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปหาหลักฐานไม่ได้ แต่พอจะจับเค้าโครงเรื่องนี้ได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา การแข่งขันชกมวยในสมัย
ต่างๆ ซึ่งนับว่าครึกโครมและมีผู้นิยมชมชอบมาก ซึ่งพอจะแยกกล่าวได้มีอยู่ 5 สมัยด้วยกัน คือ
1. สมัยสวนกุหลาบ ในสมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวย และชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยกันในสมัยนี้ยังนิยมการคาดเชือกอยู่ การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว และมีกรรมการผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวที และให้อาณัติสัญญาณให้นักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด

2. สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร สนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดในสมัยนี้นับว่ามีชื่อเสียงก็คือนายทิม อติเปรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์

3. สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้ รู้สึกว่าเจ้าของสนามได้จัดการแข่งขัน และได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปีทำให้นักมวยไทยมีชื่อเสียงขึ้นหลายคน เช่น นายสมาน ดิลกวินลาส นายสมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นต้น กรรมการที่ชี้ขาดการตัดสินในขณะนั้นและนับว่ามีชื่อเสียงควรกล่าวคือ หลวงพิพัฒน์ พลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และนายนิยม ทองชิตร์

4. สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้นับว่าเข้มแข็งดีมาก เพราะทางราชการทหารได้เข้าจัดการเพื่อเก็บเงินบำรุงราชการทหาร คณะกรรมการและนักมวยได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนเก็บเงินส่งบำรุงราชการทหารได้เป็นจำนวนมากสมความประสงค์ของราชการทหาร ตลอดจนทำให้นักมวยที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ผล พระประแดง เพิก สิงห์พัลลภ ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ ประเสริฐ ส.ส. และ ทองใบ ยนตรกิจ ได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้เลิกการแข่งขันเมื่อใกล้ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 กรรมการผู้ชี้ขาดได้ทำการตัดสินอยู่เป็นประจำตลอดนั้น มีอยู่ 3 คนด้วยกันคือนายสังเวียน หิรัญยเลขา, นายเจือ จักษุรักษ์, นายวงศ์ หิรัญยเลขา

5. สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเป็นประจำทุกวันสลับกันไป ยังมีเวทีชั่วคราว เช่นเวทีกองทัพอากาศ เวทีกองทัพเรือ และตามต่างจังหวัดทุกจังหวัดการแข่งขันมีทั้งมวยไทย และมวยสากล ตลอดจนได้จัดส่งให้นักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน และจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในปัจจุบัน
มวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าที่สุดของเรา และเป็นที่นิยมของประชาชนทุกชั้นทุกสมัย ในชั้นต้นการแข่งขันมวยไทยไม่ได้มีกติการเป็นลายลักษณ์อักษร นายสนามต้องชี้แจงให้นักมวยคู่แข่งขันทราบถึงหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้นๆ หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้กันมากขึ้นก็กลายเป็น จารีตประเพณี ซึ่งใช้เป็นหลักสำหรับการแข่งขันสืบมา
พ.ศ. 2455 ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ได้ทรงนำวิชามวยฝรั่ง (มวยสากล) มาสอนให้แก่คณะครูที่สามัคยาจารย์สมาคมและได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในไม่ช้ามวยฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยรวดเร็ว

พ.ศ. 2462 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนกติกามวยฝรั่งซึ่ง ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ได้ทรงร่างขึ้น มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย และคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470
พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะออกกฎกระทรวง ว่าด้วยเงื่อนไขการอนุญาตให้เล่นการพนันมวยชก มวยปล้ำ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2470 และขอให้กรมพลศึกษาปรับปรุงแก้ไขกติกาเหล่านี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กรมพลศึกษาเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมพลศึกษาร่วมมือกันพิจารณาร่างกติกามวยไทย มวยฝรั่ง และมวยปล้ำขึ้นใหม่จนสำเร็จเมื่อ 10 มีนาคม 2477 และเริ่มใช้กติกาใหม่นี้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นไปและได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2482
พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้วางข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยไทย มวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว
มวยอาชีพ ทางบริษัทมวยเวทีราชดำเนินได้วางระเบียบข้อบังคับ และกติกาแข่งขันขึ้นโดยได้อาศัยระเบียบข้อบังคับและกติกามวยสากล (อาชีพ) ของประเทศฟิลิปปินส์เข้าเทียบเคียงเพื่อให้เข้ากับระเบียบข้อบังคับของสหพันธ์มวยภาคตะวันออก ซึ่งประเทศไทยเราได้เป็นภาคีอยู่ด้วย ทางเวทีราชดำเนินได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับกติกาใหม่นี้ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2498 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในด้านการแข่งขันมวยไทยเป็นมาอย่างไรนั้นขอนำบทความในเรื่อง "จากสวนกุหลาบถึงราชดำเนิน" ของสมิงกระหร่อง ซึ่งได้เขียนไว้ในสมุดภาพบันทึกความวิวัฒนาการของเวทีมวยราชดำเนินดังต่อไปนี้

การเขียนเรื่องกีฬามวยไทยกำเนิดขึ้นในสมัยใดนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยของการเขียน กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลของการก่อตั้งกีฬามวยเมืองไทยเป็นเพียงตั้งแต่ยุคสมัยสวนกุหลาบสมัยพระยา "แม็คนนท์เสน" มาจนถึงสมัยเวทีราชดำเนินก็ตกอยู่ในภาวะอันเดียวอย่างที่เราและท่านจะเล่าสู่กันฟังได้เพียงจากความทรงจำบางระยะบางตอนเท่านั้น เพราะว่าความทรงจำของคนเรานั้นมักสั้น เรื่องที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เสี่ยงต่อการผิดพลาดได้มากทีเดียว ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็พยายามอย่างที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าจะพยายามทำได้
ที่เรียกว่าสนามครั้งนั้นเป็นสนามจริง นายสนามเอาเชือกมากั้นพอเป็นบริเวณเข้า แล้วนักมวยก็คาดเชือกชกกันบนพื้นดิน ใช้จอกหรือกะลาลอยน้ำเป็นมาตรากำหนดเวลาจบครั้งหนึ่งเรียกว่ายกหนึ่ง การต่อสู้ตามความรู้สึกในขณะนั้นก็เรียกว่าตื่นเต้นดี
แต่ถ้าหากให้ชกกันเดี๋ยวนี้ก็คงถูกคนดูโห่หรือให้กรรมการไล่ลงหรือออกจากเวทีแน่ เพราะกว่าจะชกกันแต่ละครั้งนั้นนานจนเมื่อยตา แต่ก็น่าเห็นใจเนื่องจากหมัดที่ใช้ชกคาดด้วยเชือกแทนสวมนวม อย่างไรก็ดีกีฬามวยเริ่มเข้ามาสู่ระเบียบอย่างจริงจัง ก็เมื่อสร้างเวทีขึ้นกลางสนามฟุตบอลสวนกุหลาบ พื้นใช้ไม้กระยาเลยเสื่อลำแพน หรือเสื่อกระจูดปูทับข้างบน มีการนับยกโดยการจับเวลาเป็นนาทีมีกรรมการคอยห้าม ครั้งแรกเคยใช้กรรมการ 2 คน คนหนึ่งคอยกันฝ่ายแดง อีกฝ่ายคอยกันฝ่ายน้กเงิน คนหนึ่งคือพระยานนท์เสน อีกคนหนึ่งคือพระยานเรนท์ราชาที่เป็นกรรมการตัดสินที่นิยมยกย่องแพร่หลายอยู่ในระหว่างนักมวยและคณะหัวหน้านักมวยทั่วไป

สำหรับการชกนั้น ชกกันสลับคู่ เช่น คู่ 1 ชกครบ 1 ยก แล้วก็ลงจากเวที มาให้คู่ 2 ขึ้นไปชกกันเพื่อมิให้คนดูเสียเวลารอคอย พอครบยกก็ลงให้คู่แรกขึ้นชกยกที่ 2 หากยังไม่มีการแพ้ชนะกันก็ให้ชกกลับกันเรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นแสงตะวัน
หลักเกณฑ์และกติกาเบื้องต้นอนุญาตให้ซ้ำกันได้ในเวลาล้ม นักมวยตอนนั้นจึงเรียนรู้วิธีต่อสู้รอบตัวทีเดียวเพราะฟาวล์ไม่มี แม้กระทั่งกัดใบหูก็เคยปรากฏ อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้นนักเรียนพลศึกษามีมากอยากจะขึ้นชกเป็นการแสดงฝีมือ และสอบไล่มวยไทยไปในตัวเสร็จแต่กลัวเท้าพวกนักมวยต่างจังหวัด จึงตกลงวางหลักกติกาให้มีการใช้ยูยิตสูช่วยด้วย จึงเป็นของธรรมดาที่เราจะเห็นนักมวยต่างจังหวัดซึ่งไม่เคยรู้ยูยิตสูคืออะไร ถูกทุ่มถูกล็อกจนออกปากส่งเสียงร้องเอ็ดตะโรยอมแพ้ให้ลั่นไป นอกจากบางรายอย่าง ประสิทธิ บุญญารมย์ ซึ่งถูกตาทับจำเกราะเตะเสียจนตั้งตัวไม่ติดและสลบคาเท้าไปในที่สุด
กติกามวยไทยเราได้รับการทำนุบำรุง ได้รับการปรับปรุงทั้งระเบียบแบบแผน กฎกติกา จรรยา มารยาท และสวัสดิภาพตามแบบสากลนิยม หลายคนที่เคยดูมวยสมัยนั้น และสมัยต่อๆ มาที่หลักเมือง ที่สวนกุหลาบ สนามชัย ท่าช้าง เคยเห็นนักมวยและมิตรสหายชาวเกลอของนักมวยยกพวกตีกันหัวร้างข้างแตก ภายหลังจากการชิงชัย เพราะว่าฝ่ายใดไม่พอใจ ขุ่นแค้นอาฆาตพยาบาท หรือเพียงแพ้พนัน แต่เมื่อได้มาเห็นนักมวยที่หน้าตายับเยิน ตรงเข้าสวมกอดกันหลังจากที่การชกได้ยุติลงและจูงมือเข้าโรงอาหารหรือสุรา เมื่อออกจากสนามก็มักจะตื่นเต้นในความเป็นนักกีฬาที่แสดงแก่กันนั่นเองที่ผลของพลศึกษาในสาขาวิชามวยทั้งแบบไทยและสากล ได้ให้แก่จิตใจของนักกีฬาและประชาชนตลอดยุคแห่งการล้มลุกคลุกคลานของกีฬามวยจากสวนกุหลาบยุคโน้นมาจนถึงเวทีราชดำเนินในปัจจุบัน

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Web Blog ของนาย ดุริยะ ชิณโสม

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Web Blog กีฬาของนาย ดุริยะ ชิณโสม